วันที่ 30 กันยายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ธาราพิทักษ์วงศ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวรุ่นใหม่สู่ธุรกิจชุมชนนี้จัดทำขึ้นโดยรูปแบบการลงนาม (MOU) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
โดยความร่วมมือดังกล่าว ได้ทำความตกลงร่วมมือในเรื่องการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยมีแนวคิดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน โดยสร้างชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและขายสินค้าในชุมชนจากการท่องเที่ยว ใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์เพื่อแปลงเป็นรายได้ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระดับชุมชนที่มีเสน่ห์ดึงดูด และมีคุณค่าเพียงพอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนและใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน
โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
2. เพื่อฝึกนิสิต นักศึกษาให้มีประสบการณ์ด้านประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน
ท่องเที่ยว OTOP ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
3. เพื่อสร้างนิสิต นักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ให้สามารถพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 8 แห่ง และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยเป็นความร่วมมือซึ่งกันและกันในส่วนที่เป็นภารกิจงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 8 แห่ง และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
2. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัย จำนวน 8 แห่ง และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการจัดโครงการ/กิจกรรมการท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า และความคุ้มค่าผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน
3. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน การเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4. ส่งเสริม สนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะ พัฒนาศักยภาพบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 8 แห่ง บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และคณะกรรมการชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
5. ส่งเสริม สนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และนักศึกษาในความรับผิดชอบใช้สินค้า OTOP เช่น ใส่ผ้าไทย ซื้อสินค้า OTOP เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น